การออกแบบ ศิลปะ

เป็นครั้งแรกของประเทศไทย กับการจัดแสดงนิทรรศการ “ช่างศิลป์ถิ่นไทย วิถีร่วมสมัย” เพื่อน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง”

การจัดงานในครั้งนี้ ดำเนินการโดยสถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น หน่วยงานในสังกัดธัชชา กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งได้รับการตอบรับมีผู้เข้าร่วมงานคับคั่ง

การขับเคลื่อนงานวิจัยของ “สถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น” ในทุกภูมิภาคครั้งนี้ ถือเป็นพลังความร่วมมือของ 17 มหาวิทยาลัย และ 12 วิทยาลัยชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ 23 จังหวัด โดยสถาบันฯได้ประจักษ์ว่าช่างศิลป์ระดับฝีมือของแทบทุกจังหวัด ล้วนเป็นผลิตผลจากพระราชกรณียกิจการส่งเสริมศิลปาชีพของสมเด็จพระพันปีหลวง

การออกแบบ ศิลปะ

กว่า 50 ปีที่ “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” ทรงวิริยะอุตสาหะทุ่มเทกําลังพระวรกายและพระสติปัญญาประกอบพระราชกรณียกิจส่งเสริมศิลปาชีพ เพื่อดูแลประชาชนให้อยู่ดีมีสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทรงมีแนวพระราชดำริให้ประชาชนใช้ช่างฝีมือสร้างอาชีพเสริม กอปรกับสายพระเนตรยาวไกลในการอนุรักษ์ฟื้นฟู พัฒนา ส่งเสริมและสืบสานภูมิปัญญาพื้นบ้าน ทั้งยังทรงก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ทำให้งานศิลปาชีพขยายไปทุกภูมิภาคของประเทศ

ดร.สิริกร มณีรินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น เล่าว่า การจัดตั้งสถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น ทำให้ได้มีโอกาสไปกำกับติดตามงานและได้เห็นช่างศิลป์ในพื้นที่เกือบทุกจังหวัด ที่สมเด็จพระพันปีหลวงได้เสด็จฯเยี่ยมราษฎรและทรงงานในแต่ละพื้นที่ สิ่งที่สถาบันฯดำเนินการ มีทั้งการจัดทำแผนสำรวจสืบค้น เพื่อเป็นคลังข้อมูลความรู้ช่างศิลป์ในประเทศไทย ถอดองค์ความรู้ สร้างหลักสูตร ถ่ายทอดส่งต่อให้แก่เยาวชนรุ่นต่อไป

ขณะนี้ช่างศิลป์ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย จึงจำเป็นต้องส่งต่อความรู้ให้คนรุ่นใหม่ร่วมอนุรักษ์ และสร้างอาชีพให้แก่พวกเขา ขณะเดียวกันต้องทำให้ศิลปหัตถกรรม มีภาพลักษณ์ ผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัย ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ นำวิทยาศาสตร์มาพัฒนาองค์ความรู้มรดกภูมิปัญญาดั่งเดิมให้มีมาตรฐานมากขึ้น ตามที่สมเด็จพระพันปีหลวงได้วางรากฐานเอาไว้

Related Post